วันพฤหัสบดีที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2551

วันอังคารที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2551

บทความคณิตศาสตร์หลายๆแบบ

ลองศึกษาดูนะครับ ผมคิดมีประโยชน์มากๆเลยครับเลยเอามาให้ศึกษากัน

บทความคณิตศาสตร์ที่น่าสนใจ


ทักษะคณิตศาสตร์" สร้างได้...
เมื่อพูดถึงคณิตศาสตร์ ผู้ใหญ่บางคนได้ฟัง ยังหนาวๆ ร้อนๆ แล้วสำหรับเด็กเล็กๆ การเรียนรู้เรื่องนี้จะเป็นสิ่งที่ยากเกินไปสำหรับเขาหรือไม่ ? คำตอบของคำถามข้างต้นนั้นคือ "ไม่ยากหรอกค่ะ" ถ้าเรารู้จักเนื้อหาและวิธีในการส่งเสริมทักษะทางคณิตศาสตร์ให้กับเด็ก ซึ่งเริ่มต้นได้ง่ายๆ จากสิ่งรอบตัวเด็กนี่เอง... ทักษะทางคณิตศาสตร์ คือ ? ก่อนที่จะค้นหาวิธีส่งเสริมต่างๆ ให้กับเด็ก เราควรจะรู้ว่าทักษะทางคณิตศาสตร์นั้นหมายถึงเรื่องอะไรบ้าง เพราะมีหลายคนที่เข้าใจว่าคณิตศาสตร์ คือ เรื่องของจำนวนและตัวเลขเท่านั้น แต่ความจริงแล้วคณิตศาสตร์มีเนื้อหาที่กว้างกว่านั้นมาก เพราะยังหมายรวมถึงรูปทรง การจับคู่ การชั่งตวงวัด การเปรียบเทียบ การจัดลำดับ การจัดประเภท เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ก็คือคณิตศาสตร์เช่นเดียวกันเริ่มได้เมื่อไหร่ดี เมื่อเรารู้ถึงเนื้อหาในเรื่องต่างๆ ของคณิตศาสตร์แล้ว เราจะพบว่าการส่งเสริมทักษะคณิตศาสตร์สามารถเริ่มได้ตั้งแต่เด็กลืมตาดูโลก เมื่อลูกมองเห็นสีสันของโมบายที่คุณแม่แขวนเอาไว้ให้เหนือเปล เขาก็จะมองเห็นความแตกต่างของสีสัน บ้านที่จัดสิ่งแวดล้อมแบบนี้ให้ลูก ก็ถือว่าได้ส่งเสริมทักษะคณิตศาสตร์ให้กับเขาแล้ว เพราะหนูน้อยต้องได้สะสมประสบการณ์เหล่านี้ขึ้นมา เพื่อเป็นพี้นฐานการเรียนรู้คณิตศาสตร์ที่ผู้ใหญ่จัดหมวดหมู่ไว้ในอนาคต ถ้าเราไม่ตีกรอบว่าคณิตศาสตร์ คือ จำนวนและตัวเลขเท่านั้น เราก็สามารถส่งเสริมลูกได้ตั้งแต่แรกเกิด ผ่านการจัดสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ความเข้าใจที่แตกต่าง การเรียนรู้ทักษะทางคณิตศาสตร์ของเด็กแต่ละวัยย่อมแตกต่างกันไป เราสามารถส่งเสริมเนื้อหาทางคณิตศาสตร์ได้ทุกด้านแต่ต่างกันตรงวิธีการค่ะ สำหรับเด็กวัย 3- 4 ขวบ จำเป็นต้องเรียนคณิตศาสตร์ผ่านสิ่งที่เป็นรูปธรรมมากเพราะเขายังไม่เข้าใจสิ่งที่เป็นนามธรรม เช่น ให้เด็กสามขวบ ดูตัวเลข 2 กับ 3 แล้วเอาเครื่องหมายมากกว่าน้อยกว่าไปให้เขาใส่ เขาก็จะงงแน่นอน ว่าเจ้าสามเหลี่ยมปากกว้างนี้คืออะไร เด็กวัยนี้การเรียนเรื่องจำนวนตัวเลข ต้องผ่านสิ่งของที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ แต่ถ้าเป็นพี่ 5 หรือ 6 ขวบ จะเริ่มเข้าใจสิ่งที่เป็นนามธรรมหรือสัญลักษณ์ต่างๆ ได้แล้วเรียนรู้ได้จากสิ่งใกล้ตัว หลักของการส่งเสริมทักษะทางคณิตศาสตร์ให้เด็ก คือ เรียนรู้จากรูปธรรมไปนามธรรม เรียนรู้จากสิ่งที่ใกล้ตัวไปสู่สิ่งที่ไกลตัว คนไทยโบราณจะมีเพลงร้องเกี่ยวกับอวัยวะต่างๆ ซึ่งเป็นการเริ่มต้นเรียนเรื่องง่ายๆ ก็คือ การเรียนรู้จากอวัยวะของตัวเองนั่นเอง เช่น ตาสองตา จมูกหนึ่งจมูก หูสองหู เมื่อเด็กเกิดมานิ้วมือก็รองรับเลขฐานสิบให้เขาได้เรียนรู้ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นการเรียนคณิตศาสตร์ในเรื่องจำนวนและตัวเลขโดยไม่รู้ตัว หรือบ้านไหนที่คุณแม่จัดระเบียบ มีการแยกประเภทเสื้อผ้า เช่น ลิ้นชักชั้นล่างใส่กางเกง ชั้นสองใส่เสื้อกล้าม ชั้นสามใส่ผ้าเช็ดตัว ฯลฯ ลูกบ้านนี้ก็จะได้เรียนคณิตศาสตร์เรื่องการจัดกลุ่ม การแยกประเภทไปด้วยเช่นกัน จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายค่ะที่พ่อแม่บางคนพยายามค้นหาอุปกรณ์ หรือกลวิธียากๆ ในการสอนเด็ก แต่กลับละเลยสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเหล่านี้ไปเด็กวัยนี้เรียนรู้จากการเล่นและการกระทำ เราจึงควรส่งเสริมทักษะคณิตศาสตร์ให้อยู่ในชีวิตประจำวันของเขา เช่น เวลาคุณแม่จัดโต๊ะอาหารก็เรียกเจ้าตัวน้อยมาช่วยจัดด้วย ว่านี่คือจานคุณพ่อ จานคุณแม่ จานพี่ เขาก็จะได้เรียนรู้คณิตศาสตร์เรื่องการจับคู่หนึ่งต่อหนึ่ง เป็นต้น กิจวัตรประจำวันของเด็กมีคณิตศาสตร์ซ่อนอยู่มากมายค่ะ แม้แต่งานบ้านง่ายๆ ก็เป็นของวิเศษที่สามารถส่งเสริมคณิตศาสตร์ให้ลูกได้ คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้จักดึงสิ่งเหล่านี้ออกมาให้ลูกเรียนรู้ จัดสภาพแวดล้อมหรือกิจกรรมแล้วเปิดโอกาสให้เขามาช่วยกันคิดขอเพียงแค่เข้าใจ เมื่อเด็กเข้าเรียนอนุบาลจะเริ่มมีแบบฝึกหัดที่เป็นระบบสัญลักษณ์เข้ามา สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตลูก คือ ลูกเรานั้นมีความพร้อมที่จะรับระบบสัญลักษณ์เหล่านั้นหรือยัง ถ้ายังไม่พร้อมก็ไม่ต้องบังคับว่าลูกต้องเข้าใจตอนนี้นะคะ เพราะบางครั้งลูกของเราอาจจะยังคงต้องการเรียนรู้จากสิ่งที่จับต้องได้ เราก็ควรช่วยเหลือและส่งเสริม ยกตัวอย่างนะคะ เมื่อมีการบ้านที่ต้องเติมเครื่องหมายมากกว่าหรือน้อยกว่า แล้วมีตัวเลข 5 กับ 6 เราอาจช่วยเตรียมสื่อให้ลูกนับประกอบการทำการบ้านประเภทเม็ดกระดุม ก้อนหิน ฯลฯ ให้เขาเห็นเป็นรูปธรรมว่ามันมากกว่าจริงๆ เพราะฉะนั้นสัญลักษณ์ที่เหมือนปากกว้างๆ นี้จะต้องหันหน้าไปกองกระดุมหรือกองก้อนหินที่มากกว่า เป็นต้น ความพร้อมของเด็กย่อมแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล คุณพ่อคุณแม่เองต้องเป็นคนคอยสังเกตว่าลูกเราอยู่ในระดับใด พร้อมมากแค่ไหน ไม่มีประโยชน์ที่จะเร่งลูกในยามที่เขายังไม่เข้าใจระบบสัญลักษณ์นะคะ การที่เราไปเร่งเด็กอาจทำให้เขามีความฝังใจว่าคณิตศาสตร์นั้นมันยากแสนยาก และไม่อยากจะเรียนรู้เรื่องคณิตศาสตร์อีก
ข้อมูลจาก : นิตยสารรักลูก ฉบับที่ 284 เดือนกันยายน พ.ศ.2549

ความมายของคณิตศาสตร์

คณิตศาสตร์ เป็นศาสตร์ที่มุ่งค้นคว้าเกี่ยวกับ โครงสร้างนามธรรมที่ถูกกำหนดขึ้นผ่านทางกลุ่มของสัจพจน์ซึ่งมีการให้เหตุผลที่แน่นอนโดยใช้ตรรกศาสตร์สัญลักษณ์ และสัญกรณ์คณิตศาสตร์ เรามักนิยามโดยทั่วไปว่าคณิตศาสตร์เป็นสาขาวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับรูปแบบและโครงสร้าง, การเปลี่ยนแปลง, และปริภูมิ กล่าวคร่าวๆ ได้ว่าคณิตศาสตร์นั้นสนใจ "รูปร่างและจำนวน" เนื่องจากคณิตศาสตร์มิได้สร้างความรู้ผ่านกระบวนการทดลอง บางคนจึงไม่จัดว่าคณิตศาสตร์เป็นสาขาของวิทยาศาสตร์
คำว่า "คณิตศาสตร์" (คำอ่าน: คะ-นิด-ตะ-สาด) มาจากคำว่า คณิต (การนับ หรือ คำนวณ) และ ศาสตร์ (ความรู้ หรือ การศึกษา) ซึ่งรวมกันมีความหมายโดยทั่วไปว่า การศึกษาเกี่ยวกับการคำนวณ หรือ วิชาที่เกี่ยวกับการคำนวณ. คำนี้ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า mathematics มาจากคำภาษากรีก μάθημα (máthema) แปลว่า "วิทยาศาสตร์, ความรู้, และการเรียน" และคำว่า μαθηματικός (mathematikós) แปลว่า "รักที่จะเรียนรู้". ในอเมริกาเหนือนิยมย่อ mathematics ว่า math ส่วนประเทศอื่นๆ ที่ใช้ภาษาอังกฤษนิยมย่อว่า maths
ความรู้ทางด้านคณิตศาสตร์เพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ผ่านทางการวิจัยและการประยุกต์ใช้ คณิตศาสตร์เป็นเครื่องมืออันหนึ่งของวิทยาศาสตร์ อย่างไรก็ตาม การคิดค้นทางคณิตศาสตร์ไม่จำเป็นต้องมีเป้าหมายอยู่ที่การนำไปใช้ทางวิทยาศาสตร์ (ดู คณิตศาสตร์บริสุทธิ์ และคณิตศาสตร์ประยุกต์)
โครงสร้างต่างๆ ที่นักคณิตศาสตร์สนใจและพิจารณานั้น มักจะมีต้นกำเนิดจากวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ และสังคมศาสตร์ โดยเฉพาะฟิสิกส์ และเศรษฐศาสตร์. ปัญหาทางคณิตศาสตร์ในปัจจุบัน ยังเกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้ในสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ และทฤษฎีการสื่อสาร อีกด้วย
เนื่องจากคณิตศาสตร์นั้นใช้ตรรกศาสตร์สัญลักษณ์และสัญกรณ์คณิตศาสตร์ ซึ่งทำให้กิจกรรมทุกอย่างกระทำผ่านทางขั้นตอนที่ชัดเจน เราจึงสามารถพิจารณาคณิตศาสตร์ว่า เป็นระบบภาษาที่เพิ่มความแม่นยำและชัดเจนให้กับภาษาธรรมชาติ ผ่านทางศัพท์และไวยากรณ์บางอย่าง สำหรับการอธิบายและศึกษาความสัมพันธ์ทั้งทางกายภาพและนามธรรม. ความหมายของคณิตศาสตร์นั้นยังมีอีกหลายมุมมอง ซึ่งหลายอันถูกกล่าวถึงในบทความเกี่ยวกับปรัชญาของคณิตศาสตร์
คณิตศาสตร์ยังถูกจัดว่าเป็นศาสตร์สัมบูรณ์ โดยจำไม่เป็นต้องมีการอ้างถึงใดๆ จากโลกภายนอก. นักคณิตศาสตร์กำหนดและพิจารณาโครงสร้างบางประเภท สำหรับใช้ในคณิตศาสตร์เองโดยเฉพาะ, เนื่องจากโครงสร้างเหล่านี้ อาจทำให้สามารถอธิบายสาขาย่อยๆ หลายๆ สาขาได้ในภาพรวม หรือเป็นประโยชน์ในการคำนวณพื้นฐาน
นอกจากนี้ นักคณิตศาสตร์หลายคนก็ทำงานเพื่อเป้าหมายเชิงสุนทรียภาพเท่านั้น โดยมองว่าคณิตศาสตร์เป็นศาสตร์เชิงศิลปะ มากกว่าที่จะเป็นศาสตร์เพื่อการนำไปประยุกต์ใช้ (ดังเช่น จี. เอช. ฮาร์ดี ที่ได้กล่าวไว้ในหนังสือ A Mathematician's Apology); แรงผลักดันในการทำงานเช่นนี้ มีลักษณะไม่ต่างไปจากที่กวีและนักปรัชญาได้ประสบ และเป็นสิ่งที่ไม่สามารถอธิบายได้. อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ กล่าวว่า คณิตศาสตร์เป็นราชินีของวิทยาศาสตร์ ในหนังสือ Ideas and Opinions ของเขา
องค์ความรู้ในคณิตศาสตร์รวมกันเป็นสาขาวิชา หลักการเบื้องต้นที่เริ่มจากเลขคณิตไปยังการประยุกต์ใช้งานพื้นฐานของสาขาคณิตศาสตร์ ที่รวมพีชคณิต เรขาคณิต ตรีโกณมิติ สถิติศาสตร์ และแคลคูลัส เป็นหลักสูตรแกนในการศึกษาขั้นพื้นฐาน แม้ว่าจะได้มีการพัฒนาและขยายขอบเขตไปอย่างมากมายในช่วงเวลาหลายร้อยปี สาขาวิชาคณิตศาสตร์ยังคงถูกจัดว่าเป็นสาขาวิชาเดี่ยว ที่มีลักษณะแตกต่างจากสาขาอื่นๆ